จากการคาดประมาณขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสุดยอด (super-aged society ) ในปี พ.ศ 2573 ซึ่งหมายถึงว่าประชากรประมาณ 1 ใน 3 จะมีอายุมากกว่า 60 ปี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ของประเทศแล้ว ยังจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่โดยเฉพาะในด้าน “ตลาดแรงงาน” ของประเทศอีกด้วย
ในบทความนี้ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ มีความตั้งใจที่จะนำเสนอประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ที่หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า บางอาชีพอาจจะ “รุ่ง” ในขณะที่บางอาชีพอาจจะ “ร่วง” ในยุคสังคมสูงวัย
ทำไมบางอาชีพอาจจะ “รุ่ง” ในขณะที่บางอาชีพอาจจะ “ร่วง” ในยุคสังคมสูงวัย
สาเหตุสำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของทักษะในการทำงานที่แตกต่างกันในอาชีพต่างๆ เมื่อแรงงานมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย โดยบางอาชีพ แรงงานจะมีทักษะและมีผลิตภาพ (productivity) ที่เพิ่มขึ้นจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น (“ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า”) ในขณะที่บางอาชีพ จะเป็นตรงกันข้ามคือ มีทักษะและมีผลิตภาพ (productivity) ที่ลดลงจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น (“ยิ่งสูงวัย ยิ่งเฉา”) ในบทความนี้คณะผู้เขียนจะนำผลงานวิจัย ที่คณะผู้เขียนได้ศึกษาถึงผลกระทบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยต่อผลิตภาพในอาชีพต่างๆในประเทศไทย โดยคณะผู้เขียนได้นำกระบวนการวิจัยของ Cai และ Stoyanov (2016) มาประยุกต์ใช้กับข้อมูลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรในอาชีพต่างๆในประเทศไทย พ.ศ. 2562 ของสํานักงานสถิติแห่งชาติ
อาชีพใด ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า
สำหรับกลุ่มอาชีพที่ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า กลุ่มอาชีพเหล่านี้จะเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของ ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) บางประเภท โดยทักษะทางปัญญาที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ได้แก่ทักษะในด้านการสื่อสารด้วยการพูดและการฟัง และทักษะในด้านการสื่อสารด้วยการเขียนและการอ่าน ยกตัวอย่างเช่นอาชีพนักบริหาร ครูอาจารย์ นักการตลาด นักกฎหมาย และ นักบริการ โดยกลุ่มอาชีพเหล่านี้ถูกจัดลำดับว่าจะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในด้านการมีผลิตภาพ (productivity) ที่เพิ่มขึ้นจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อาชีพเหล่านี้ต้องอาศัยทักษะในด้านการสื่อสารเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานให้สำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น อาชีพครูอาจารย์ เป็นอาชีพที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ในการรู้จักพูด โดยต้องพูดให้ผู้เรียนไม่ใช้เพียงแต่จดจำบทเรียนได้ แต่จะต้องรู้จักพูด ให้บทเรียนนั้น “เข้าไปในใจ” ของผู้เรียนได้อย่างถ่องแท้ หรือ แม้แต่นักการตลาด หรือ นักบริการ ที่จะต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการรู้จักฟัง โดยการฟังนั้น ไม่ใช้เพียงฟังเพื่อได้ยินคำกล่าวของลูกค้าหรือผู้รับบริการต่างๆ แต่จะต้องเป็นการฟังที่ เสมือนว่าผู้ฟังนั้นได้เข้าไปนั่ง “อยู่ในใจ” ของลูกค้าหรือผู้รับบริการต่างๆ อย่างแท้จริง ดังเช่นหลักการ empathize หรือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) นั้นเอง ซึ่งทักษะเหล่านี้จะต้องใช้เวลาในการสั่งสม
อาชีพใด ยิ่งสูงวัย ยิ่งเฉา
สำหรับกลุ่มอาชีพที่ยิ่งสูงวัย ยิ่งเฉา กลุ่มอาชีพเหล่านี้จะเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลดลงของ ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) และ ทักษะทางกายภาพ (physical skills) บางประเภท โดยทักษะที่จะลดลงตามอายุ ได้แก่ ทักษะในด้านความจำ ทักษะในด้านการรับรู้และตอบสนอง ทักษะในด้านกำลังหรือความอดทนของร่างกาย และ ทักษะในด้านความคล่องแคล่วรวดเร็วของร่างกาย เป็นต้น โดยอาชีพที่ถูกจัดลำดับว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในด้านการมีผลิตภาพ (productivity) ที่ลดลงจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น ได้แก่ อาชีพเกษตรกร คนงานก่อสร้าง ผู้ผลิตและควบคุมเครื่องจักร คนงานเหมืองแร่ และผู้ขับขี่ยานยนต์และเครื่องจักรชนิดเคลื่อนที่ได้ โดยอาชีพเหล่านี้ต้องอาศัย ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) และ ทักษะทางกายภาพ (physical skills) ไม่ว่าจะเป็น ทักษะในด้านการรับรู้และตอบสนองสำหรับ ผู้ผลิตและควบคุมเครื่องจักรหรือผู้ขับขี่ยานยนต์และเครื่องจักรชนิดเคลื่อนที่ได้ หรือ แม้กระทั่งทักษะในด้านกำลังหรือความอดทนของร่างกายสำหรับอาชีพเกษตรกร
ทางออกของทางตัน
การรู้จักปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นทางเลือกที่ดีสุดสำหรับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นข้อคิดสุดคลาสสิกจาก นักวิจัยในด้านวิวัฒนาการและนักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง ชาร์ล ดาวิน (Charles Darwin) ดังนั้นทางออกของทางตันที่ดีสุด คือการยอมรับและตระหนักว่า “ทางมันตัน” และเริ่มต้นเดินทางใหม่ๆ ซึ่งสำหรับกลุ่มอาชีพต่างๆที่มีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเข้าสู้สังคมสูงวัย คงหมายถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ (reskill) หรือ การเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ (relearn) ที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบอาชีพนั้นยังคงรักษาหรือแม้แต่เพิ่มทักษะและผลิตภาพ (productivity) ให้สูงขึ้นก็เป็นได้ โดยภาครัฐเองก็ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญในด้านนี้ เพราะทุกคนและทุกอาชีพไม่ได้มี “ทุน” สำหรับการปรับตัวที่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่สรุปได้อย่างแน่นอนก็คือ ถ้าสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยัง(พยายาม)ทำทุกอย่างให้เหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็จะเป็นตามข้อสรุป ของ ชาร์ล ดาวิน ที่ทุกท่านก็ทราบดีว่าคืออะไร