เนสท์เล่ ชู “เกษตรเชิงฟื้นฟู” ส่งเสริมเกษตรกรโคนม เพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบ ลดต้นทุน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มรายได้จากมูลวัว พัฒนาเพิ่มมูลค่าต่อเนื่องสู่มูลไส้เดือน สร้างรายได้ยั่งยืน
จากความท้าทายในอุตสาหกรรมโคนม ที่ปัจจุบันประเทศไทยผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยวันละ 3,000 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่เคยผลิตได้ 3,500 ตัน ขณะตลาดน้ำนมเพื่อการบริโภคเติบโตถึง 7% การผลิตต่อตัวเฉลี่ยเพียง 11.72 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดด้านอาหารและการจัดการมูลที่ยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ฟาร์มโคนมยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ทำให้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นหัวใจสำคัญ โดยเนสท์เล่ ซึ่งประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ได้นำ”การเกษตรเชิงฟื้นฟู” (Regenerative Agriculture) เข้ามาส่งเสริมและปรับใช้ในฟาร์มโคนมของเกษตรกร
ศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เนสท์เล่ลงพื้นที่ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร โดยผลักดันให้เกษตรกรรู้จักการทำ “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” (Regenerative Agriculture) ที่นำมาปรับใช้กับฟาร์มโคนม โดยการเกษตรเชิงฟื้นฟูมุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญในการบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร คือ 1. การพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนะ 2. การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
เนสท์เล่แนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิด เพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร และเป็นการเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนให้กับแม่โค ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ยราว 13.5 กก. ต่อตัวต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กก. ต่อตัวต่อวัน
นอกจากนี้ คุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566 ซึ่งการที่ระดับโปรตีนในนมมีสูงกว่า 3% แสดงให้เห็นถึงสุขภาพของแม่โคที่สมบูรณ์ และยังเป็นการเพิ่มโภชนาการที่มีประโยชน์ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย นอกจากนี้ การปลูกพืชหลายชนิดก็เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลง พร้อมกับปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรดิน และสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม
ศิรวัจน์ กล่าวว่า เนสท์เล่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการมูลโคอย่างมีประสิทธิภาพโดยการนำไปตากแห้ง เมื่อแห้งแล้วสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้าอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและบางส่วนสามารถแบ่งไปจำหน่ายในรูปของปุ๋ยคอก สร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร เปลี่ยนจาก “มูลโค สู่มูลค่า” สร้างรายได้อีกกว่า 40,000 บาทต่อปี
การนำมูลโคตากบนลานปูน ลดระยะเวลาตากแห้งจาก 2 สัปดาห์เหลือเพียง 3-5 วัน ลดการสะสมก๊าซมีเทน และเตรียมต่อยอดนำมูลโคผลิตปุ๋ยพรีเมียมผ่านการเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งจะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 5-7 บาทต่อกิโลกรัม
พร้อมกันนี้ เนสท์เล่ยังสนับสนุนการติดตั้งบ่อไบโอแก๊สเพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทนไปใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน นับเป็นวิธีการจัดการของเสียในฟาร์มให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญยังช่วยลดคาร์บอนจากมูลสัตว์ เนื่องจากการนำมูลโคมาตากแห้งจะทำให้ไม่เกิดการหมักหมมจนเกิดเป็นก๊าซมีเทน
ส่วนด้านระบบไฟฟ้า ที่ยังเข้าไม่ถึงบางพื้นที่ของฟาร์มโคนม หรือบางจุดระบบไฟฟ้าไม่เสถียร เนสท์เล่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับสูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงหญ้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตลอดปี และยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยให้เกษตรกรโคนมมีไฟใช้ในครัวเรือน โดยการทำฟาร์มโคนมตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูทั้งหมด สามารถลดคาร์บอนได้รวมประมาณ 2,000 ตัน ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561
ผลลัพธ์จากการทำ “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” ศิรวัจน์ เล่าว่า ปัจจุบัน ฟาร์มที่นำแนวทางเกษตรเชิงฟื้นฟูมาใช้ 40 ฟาร์ม มีผลผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.5 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 11-12 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ซึ่งความสำเร็จนี้ เป็นผลจากเกษตรกรที่พร้อมเปลี่ยนแปลง และกล้ารับความเสี่ยง
“เรามุ่งมั่นช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและรายได้ ฟาร์มโคนมที่ทำงานร่วมกับเนสท์เล่ทั้งหมดกว่า 160 ฟาร์ม หากรายใดที่นอกเหนือจาก 40 ฟาร์มที่ดำเนินการไปแล้วสนใจ และมีความพร้อม เนสท์เล่ก็พร้อมสนับสนุน โดยเนสท์เล่มีเป้าหมายในการขยายเป็น 60 ฟาร์มและ 80 ฟาร์มต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการทำ “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” ไม่น่าจะทำได้ทั้งหมด 160 ฟาร์ม เพราะทำเลที่ตั้ง และความพร้อมของแต่ละฟาร์มแตกต่างกัน
ทั้งนี้ เนสท์เล่ยังคงเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกร ด้วยความร่วมมือและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและผลผลิตอย่างยั่งยืน พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ