ไอเดียเจ๋ง! แปรรูปเศษไผ่เหลือทิ้ง สู่ “ทรายแมว” เพื่อทาสแมว

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:3 Minute, 51 Second

มทร.ธัญบุรี ไอเดียเจ๋ง นำเศษไผ่เหลือทิ้งจากงานหัตถกรรมของกลุ่มโอทอป สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ทรายแมว ชี้ “ดูดซับน้ำและเก็บกลิ่นได้ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากเศษไผ่เหลือทิ้ง เป็นผลงานวิจัยของคณะผู้วิจัยนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ ร่วมกับ ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา และอาจารย์จักรกฤษณ์พุ่มเฟือง อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยผลงานวิจัยนี้ได้ขอรับการจดยื่นอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย

​ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของทรายแมวจากเศษไผ่เหลือทิ้ง มาจากโจทย์ใหญ่ในการผลิตงานหัตถกรรมของกลุ่มโอทอปต่าง ๆ จะมีขยะหรือของเสียส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตมากมาย เช่น เศษไผ่ ท้องไผ่ เศษเส้นตอกที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นต้น 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัย

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเลือกกำจัดด้วยวิธีการเผาทำลาย และมีบางส่วนนำมาทำเป็นดิน ซึ่งวิธีการดังกล่าวนั้นย่อมกระตุ้นให้เกิดมลพิษทางอากาศ และมีผลระยะยาวต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชน ซึ่งผลงานผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากเศษไผ่เหลือทิ้งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยเรื่องการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเสื่อลำแพนมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชุดโครงการการจัดการองค์ความรู้และต่อยอดนวัตกรรมเสื่อลำแพน เพื่อขยายผลสู่การสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่ยั่งยืน พื้นที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี โดยนำกระบวนการผลิตทรายแมวจากเศษไผ่มาสร้างมูลค่า พัฒนาขึ้นเป็นสูตรใหม่ ให้มีคุณสมบัติที่ดีโดยเฉพาะคุณสมบัติของการดูดซับน้ำ การบดอัด ซึ่งสูตรการผลิตเดิมค่อนข้างเหนียวและข้น ส่งผลให้ขั้นตอนการขึ้นรูปอัดเม็ดทำได้ยาก และไม่สามารถบดอัดผ่านเครื่องจักรขนาดเล็กได้

​หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวอีกว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ ที่แปรรูปเศษไม้ไผ่เหลือทิ้งจากกระบวนการการผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยศึกษาการแปรรูปเศษไม้ไผ่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยีการตัดบด และปั่นแยกเส้นใยเพื่อให้มีคุณสมบัติการดูดซับน้ำที่ดี โดยใช้เยื่อไผ่และกาวแป้ง ในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดขนาดเล็กแล้วนำไปตากหรืออบให้แห้งสนิท ขณะที่วิธีการใช้ทรายแมว ผู้เลี้ยงแมวสามารถนำผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากเศษไผ่เทลงในกระบะ หรือภาชนะรองรับการขับถ่ายของแมวได้เช่นเดียวกับทรายแมวทั่วไป หลังการใช้งานทรายแมวจากเศษไผ่แล้ว สามารถใช้เป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้อีกด้วย ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนีย์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้ คือนวัตกรรมการแปรรูปเศษไผ่เป็นทรายแมวดูดซับการขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง ได้สูตรการผลิตทรายแมวที่มีสมบัติการดูดซับน้ำใกล้เคียงกับทรายแมวประเภทเดียวกันที่มีจัดจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งมีราคาขายเฉลี่ย 34 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ทรายแมวจากเยื่อไผ่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10 บาทต่อลิตร คาดการณ์ราคาขายทรายแมวจากเยื่อไผ่ประมาณ 30-35 บาทต่อลิตร หากนำไปแบ่งบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย ถุงละ 5 ลิตร สามารถขายได้ถุงละ 150-180 บาท(ต้นทุนทรายแมวจากเยื่อไผ่ 50 บาทต่อถุง) ต้นแบบผลิตภัณฑ์ทรายแมวดังกล่าวนี้มีความโดดเด่นในด้านการดูดซับน้ำได้ดี มีฝุ่นน้อย น้ำหนักเบา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสามารถกำจัดทิ้งได้ง่าย ที่นับว่าตรงตามคุณสมบัติของทรายแมวที่ดี นอกจากนี้ยังได้ทดสอบความสามารถในการดูดซับน้ำ ซึ่งผลการทดสอบอัตราการดูดซับน้ำเปรียบเทียบกับทรายแมวที่ผลิตจากไม้สนและทรายแมวที่ผลิตจากซังข้าวโพด พบว่าทรายแมวที่ผลิตจากเศษไผ่มีประสิทธิภาพการดูดซับน้ำเทียบเท่ากับทรายแมวที่ผลิตจากไม้สนและทรายแมวจากซังข้าวโพด  

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้ทรายแมวประเภทใดหรือชนิดใดนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่ที่งบประมาณ ลักษณะขนของแมว รวมถึงความชอบของแมวแต่ละตัวที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นผู้เลี้ยงแมวอาจต้องทดลองใช้ก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าทรายแมวแบบใดที่ถูกใจและเหมาะกับแมวที่เลี้ยงอยู่ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี หรือโทร. 02 549 3450

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

เที่ยวชมแลนด์มาร์คแห่งใหม่จังหวัดปทุมธานี  “ทานตะวันบานสะพรั่งทั่วระแหง”

ซีพีแรม ชวนเที่ยวงาน “ทานตะวันบานสะพรั่งทั่วระแหง” ครั้งที่ 3 ร่วมแชะ ชิล ชิม ช้อปสินค้าเกษตร ส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน จ.ปทุมธานี