‘rPET’ มิติใหม่วงการเครื่องดื่มไทยยั่งยืน เริ่มแล้ว!

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:7 Minute, 59 Second

บิ๊กธุรกิจเครื่องดื่ม ‘PEPSI – Coca Cola – Nestle’ เตรียมพร้อมสร้างการรับผู้บริโภค หลังวางแผนนำขวด rPET ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม ตามที่ อย.อนุมัติ หวังสร้างการเติบโต และดูแลสิ่งแวดล้อมโลกอย่างยั่งยืน ลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ยุโรป-อเมริกา ใช้มาแล้วกว่า 10-20 ปี

  • rPET นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

ปกติคนไทยจะรู้จักขวด PET (Polyethylene Terephthalate) กันในรูปแบบขวดพลาสติกใส ที่น่าใช้งาน ซึ่งเหมาะกับการเป็นขวดเครื่องดื่มที่ทุกคนไว้วางใจ และด้วยคุณสมบัติความเหนียว แข็งแรงทนทาน เมื่อขวด PET ผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน จะสามารถนำมาหลอมขึ้นรูปเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ในรูปแบบของขวด “rPET” (recycled PET)

กระบวนการผลิตขวด rPET เริ่มจากการแยกชิ้นส่วนฝาและฉลาก จากนั้นจึงนำขวดมาบดเป็นเกล็ดพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่เรียกว่า Flakes แล้วส่งต่อไปยังกระบวนการล้างทำความสะอาดด้วยเทคนิคพิเศษอีกหลายขั้นตอน เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไป จนกว่าจะได้ความสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด 

หลังจากนั้น ก็เข้าสู่ขั้นตอนสำคัญ คือ การหลอมเกล็ดพลาสติกด้วยความร้อนสูง ผสานการใช้เทคโนโลยีเฉพาะในการปรับปรุงคุณภาพจนได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET resin) ที่สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อนอันตรายและมีความปลอดภัย เพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

กระบวนการรีไซเคิลขวด rPET นี้ เรียกว่าเป็น “Bottle-to-Bottle Recycling” คือการแปรสภาพขวดใช้แล้วให้หมุนเวียนเป็นขวดใหม่ที่สะอาดปลอดภัย และใช้บรรจุเครื่องดื่มเพื่อบริโภคได้จริง

  • ต่อสู้เพื่อ rPET บรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อโลก-มนุษย์

เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ภาคเอกชนในธุรกิจเครื่องดื่ม รวมตัวกันในนามของ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย ร่วมกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศความร่วมมือเพื่อผลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) 

พันธมิตรกลุ่มนี้ จะร่วมกันสร้างความเข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ทันสมัย ซึ่งทำให้พลาสติกรีไซเคิลมีความสะอาดและปลอดภัย พร้อมเร่งให้ข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นกับภาครัฐ เพื่อปลดล็อคกฎหมายที่ยังห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 

ทางสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มฯ และเหล่าพันธมิตร เชื่อมั่นว่าเมื่อดำเนินการสำเร็จ จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก 

หลังจากดำเนินงานมาหลายปี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 235) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก โดยระบุว่า ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ หมายความว่า ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ (Recycled Plastic) จาก 3 กระบวนการ คือ

1. การแปรใช้ใหม่แบบปฐมภูมิ (Primary Recycling: Pre-Consumer Scrap) หมายถึง การแปรรูปชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติก (Scrap) ภายในโรงงาน ซึ่งเหลือจากกระบวนการผลิตภาชนะบรรจุอาหาร เพื่อนำมาหมุนเวียนกลับมาผลิตใหม่ โดยชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติกดังกล่าว ต้องไม่เคยใช้สัมผัสอาหารมาก่อน

2. การแปรใช้ใหม่แบบทุติยภูมิ (Secondary Recycling: Physical Reprocessing: Mechanical Recycling) หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วด้วยวิธีทางกายภาพ รวมทั้งวิธีทางกล เช่น การนำพลาสติกมาบด ล้าง และอาจใช้สารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพแล้วหลอมอัดเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อใช้ทำเป็นภาชนะบรรจุ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องไม่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของพอลิเมอร์เปลี่ยนแปลง

พลาสติกรีไซเคิลตามกระบวนทุติยภูมินั้น จะต้องเป็นชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate; PET) ที่มีคุณภาพหรือมาตรฐานระดับการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) และต้องส่งมอบรายงานผลการประเมินความปลอดภัยจากหน่วยประเมินความปลอดภัยตามที่สำนักงาน อย. กำหนด หรือทำขึ้นจากเม็ดพลาสติกแปรใช้ใหม่ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

3. การแปรใช้ใหม่แบบตติยภูมิ (Tertiary Recycling: Chemical Reprocessing) หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วให้กลับไปอยู่ในรูปของวัสดุตั้งต้น โดยใช้กระบวนการทางเคมี

อย่างไรก็ตาม เพื่อสะอาดและความปลอดภัย ประกาศกระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้นำพลาสติกที่เคยใช้บรรจุหรือหุ้มห่อปุ๋ย วัตถุมีพิษ หรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหาร

  • ถึงเวลาเดินเครื่อง rPET ในไทย

หลังประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ โดยสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำหน้าที่ร่วมกับภาควิชาการ ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของ rPET โดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งมีการประเมินกันว่า ทุกอย่างน่าจะเดินสู่เป้าหมายได้ ประมาณปลายไตรมาส 2 ปี 2566 

ระหว่างที่รอการตรวจสอบความเหมาะสมและมาตรฐาน ภาคเอกชนผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ขวด rPET อย่าง อินโดรามา ก็ประกาศความพร้อม ขณะเดียวกัน GC Group ก็จัดตั้งบริษัท ENVICCO ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดโรงงานผลิตขวดจากพลาสติกรีไซเคิล 100% เตรียมรองรับตลาดเต็มที่

ด้านผู้ประกอบการเครื่องดื่มในไทย ก็ไม่รอช้าเช่นกัน เริ่มต้นจาก บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ออกมาตอกย้ำและส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Sustainability Management) โดยการเลือกใช้พลาสติก PET ที่มีคุณภาพดี และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Design for Recycle) เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% โดยเมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน จะถูกแปรสภาพเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ เรียกว่า recycled PET (ขวด ‘rPET’) 

เครื่องดื่มเป๊ปซี่ โดยบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จับมือ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) และบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ประกาศพร้อมใช้ขวดจากพลาสติกรีไซเคิล(rPET) 100% เป็นเจ้าแรกในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งจะเริ่มวางจำหน่ายภายในเดือนเมษายน 2566 พร้อมจัดแคมเปญ“สำนึกซ่า กล้าเปลี่ยนเพื่อโลก” 

เริ่มจากการร่วมกับ PMCU ติดตั้งถังขยะดีไซน์พิเศษสำหรับใส่ขวด PET ทั่วบริเวณสยาม สแควร์ ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ – ธันวาคม 2566 และผนึกกำลังกับเอ็นวิคโค ผู้ผลิตเม็ด PCR PET ที่ได้มาตรฐานสากลและผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย เป็นเจ้าแรก ส่งเสริม Bottle-to-Bottle Recycling มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ค่ายเนสท์เล่ นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวถึงเป้าหมายการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้รีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยกระป๋องเนสกาแฟพร้อมดื่ม ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมทุกชิ้นส่วนสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง จึงช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการใช้อะลูมิเนียมใหม่มาทำบรรจุภัณฑ์

รวมถึงการเดินหน้าเปลี่ยนขวดนํ้ารักษ์โลก ได้ช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง 370 ตันต่อปี เมื่อเทียบกับการใช้พลาสติกผลิตขวดนํ้าแบบเดิม ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ มีแผนที่จะนำขวด rPET(recycled PET) มาใช้ หลังจาก อย. ผ่านการประเมินความปลอดภัยและอนุมัติใช้ เป็นการหมุนเวียนขวดพลาสติกเก่า มาผ่านนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวให้น้อยลง

  • เดินเกมรีไซเคิลต่อเนื่อง

ด้วยความที่ลุกขึ้นมาปลุกกระแสการแก้กฎหมายหรือมมาตรการเกี่ยวกับการใช้ขวด rPET ตั้งแต่เริ่มแรก จนวันนี้ทุกอย่างเริ่มใกล้ความจริงเข้ามาทุกที โดยระหว่างทางก่อนหน้านี้ บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ก็จัดแคมเปญและกิจกรรมเพื่อรณรงค์การลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมาต่อเนื่อง ทั้งลงมือทำเอง และการร่วมมือกับบพันธมิตรที่หลากหลาย เช่น โครงการเมื่อ พ.ย.2565 ที่ร่วมกับบริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด (Trash Lucky) จัดทำแคมเปญ “โค้ก ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ปีที่ 2” ด้วยเป้าหมายการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ส่วนประกอบที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างน้อย 50% และตั้งเป้าว่า ขายไปเท่าไร ก็ต้องตามไปเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ให้ได้ 100% ภายในปี ค.ศ.2030 หรือในอีก 8 ปี

แคมเปญนี้ เป็นการร่วมมือพันธมิตร อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค สำหรับผู้ที่รวบรวมขยะจากผู้บริโภค โดยตั้งจุดรับรวบรวมขยะให้กับผู้บริโภคหลายจุด โดยผู้นำขยะพลาสติกมาทิ้งในจุดที่กำหนด มีสิทธิได้ร่วมลุ้นรางวัล เป็นการกระตุ้นและสร้างการรับรู้ที่โคคา โคล่า ทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การให้รางวัล เป็นการสร้างความตื่นเต้น สร้างสีสัน และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว แต่ที่สำคัญคือ การบริหารจัดการขยะ จะต้องไม่ไม่ยุ่ง ไม่ยาก และมีวิธีส่งรีไซเคิลที่ง่ายๆ ส่วนเรื่อง rPET ที่มีการปลดล็อกกฎหมาย ในการนำขวด PET ที่ใช้แล้วกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มได้อีกครั้ง จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ช่วยให้การผลักดันด้านการจัดการขวด PET ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีการใช้มากที่สุด ถูกบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทางโคคา- โคล่า เอง ก็มีแผนสำหรับการดำเนินงานในส่วนนี้เช่นกัน เพียงแค่รอให้กฎหมายคลอดออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน โคคา โคล่า ก็ประกาศเปิดตัวขวดพลาสติกรุ่นใหม่ ‘ฝาที่ติดอยู่กับขวด’ ซึ่งออกแบบให้ง่ายสำหรับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในคราวเดียว

ขวดพลาสติกของผลิตภัณฑ์อย่าง Coke, Coke Zero, Diet Coke, Fanta, Sprite และ Dr Pepper จะมีฝาปิดแบบติดกับขวดภายในต้นปี ค.ศ.2024 โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีเฉพาะในสหราชอาณาจักรเท่านั้น

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

'ดีวาน่า' รักษ์โลกทรานส์ฟอร์มแบรนด์สู่ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน

‘ดีวาน่า’ ผนึก JACOB JENSEN บริษัทดีไซน์ดังจากเดนมาร์ก ร่วมพัฒนาทรานส์ฟอร์มแบรนด์สู่ความยั่งยืนเต็มรูปแบบ ทั้งส่วนผสม Plant-based และแพ็กเกจจิ้ง ECO พร้อมเดินหน้าพัฒนาธุรกิจเพื่อความยัางยืน