AIS ผนึกภาครัฐ-เอกชน เปิดตัวภารกิจ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ปิดช่องทางมิจฉาชีพ ยกระดับการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์อย่างยั่งยืน
AIS เดินหน้าเสริมเกราะป้องกันสังคมไทยจากภัยไซเบอร์ โดยร่วมกับ สภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. เปิดตัวความร่วมมือ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ผนึกกำลังกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรกว่า 100 แห่ง ตัดวงจรภัยไซเบอร์ตั้งแต่ต้นทาง ขับเคลื่อนสู่สังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืน
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลเร่งผลักดันนโยบายเชิงรุกเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน ผ่านแนวทาง “Seal Stop Safe” ซึ่งรวมถึงการซีลชายแดน แก้กฎหมายควบคุมบัญชีม้า-ซิมม้า และการบูรณาการการทำงานกับทั้งภาครัฐและเอกชน

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เผยว่า สถิติการแจ้งความออนไลน์ระหว่าง มี.ค. 65 – เม.ย. 68 มีมากถึง 887,315 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 89,000 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องยกระดับการป้องกันและสืบสวนอย่างเร่งด่วน โดยตำรวจได้จัดตั้งศูนย์ ศปอส.ตร. พร้อมใช้เทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์ธุรกรรมร่วมกับ AIS และพันธมิตรเพื่อปิดล้อมขบวนการมิจฉาชีพให้ได้ผลจริง

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS เดินหน้าภารกิจ Cyber Wellness for THAIs เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ให้กับสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมสัญญาณในพื้นที่ชายแดน การร่วมปฏิบัติการปราบปรามมิจฉาชีพ การให้บริการสายด่วน 1185 และ *1185# รวมถึงการให้ความรู้ผ่านหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลของประชาชน

ความร่วมมือในครั้งนี้ถูกขับเคลื่อนผ่านแนวทาง “3 ประสาน” ได้แก่
1. เรียนรู้ (Educate) – เสริมความเข้าใจและทักษะไซเบอร์ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ
2. ร่วมแรง (Collaborate) – ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ร่วมกันสื่อสารและแก้ปัญหา
3. เร่งมือ (Motivate) – สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม
“ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นพันธกิจร่วมกันของทุกคน เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมดิจิทัลที่มั่นคงและปลอดภัยในทุกมิติ”