AOT เดินหน้าภารกิจยั่งยืน ขยายบริการ เพิ่มความสะดวกผู้เดินทาง ลดเวลา ลดขยะ ตอบรับคอนเซ็ปท์ Green Airport ล่าสุด ผสานมือ BAFS เติมเต็มพลังเพื่อสตรีไทย สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ตอบรับวันสตรีสากล
ฉฎาณิศา ชำนาญเวช รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคลและอำนวยการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า AOT ร่วมกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) จัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day 2025) ภายใต้ชื่อว่า “AOT x BAFS เติมเต็มพลังเพื่อสตรีไทย” โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อยกย่องบทบาทและสถานภาพของสุภาพสตรี สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ และให้ความสำคัญกับคุณค่าของสตรีในสังคมไทย รวมทั้งส่งเสริมการปฏิบัติต่อสตรีอย่างให้เกียรติและเท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะสตรีและเด็กที่ประสบปัญหา เพื่อให้สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังร่วมมอบเงินสนับสนุนและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับสุภาพสตรี โดย AOT สนับสนุนน้ำดื่ม จำนวน 1,200 ขวด ให้แก่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (บ้านพักฉุกเฉิน) เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของ AOT ที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม (Corporate Citizenship Airport) และสร้างคุณค่า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ

ส่วนแผนการพัฒนาด้านความยั่งยืนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสร้าง Green Airport ตามแนวคิดของ AOT ยังพยายามพัฒนาและสร้างให้เกิด Green Airport ตามแนวทาง 4 ด้าน ได้แก่
- สนามบินมัลติโมเดิร์น คือ เป็นสนามบินที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างรถไฟ เรือ เพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น เช่น ที่ภูเก็ตก็จะมีเรือเฟอร์รี่ไปเกาะต่างๆ ได้
- การเชื่อมโยงระบบ ไม่ใช่แค่การเดินทาง ทางกายภาพแต่รวมถึงการซื้อตั๋ว การสแกนใบหน้าเช็คอินท์ เพิ่มความสะดวกผู้เดินทางและยังลดปัญหาขยะกระดาษ การจองโรงแรม ต้องทำได้ง่ายขึ้นผ่านระบบเดียว
- ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่การทำสนามบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องคิดถึงชุมชนรอบข้างด้วย ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
- ขนาดของสนามบิน สนามบินขนาดใหญ่ไม่จำเป็นเสมอไป สิ่งสำคัญคือ ต้องเหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสะดวกสบายควบคู่กันไป

ปัจจุบันปริมาณการใช้บริการสนามบินในเครือข่าย AOT มีเที่ยวบินขึ้นลงเฉลี่ย 4 เที่ยวต่อนาที ซึ่งหมายความว่า มีผู้โดยสารมากกว่า 500 คน เดินทางผ่านสนามบินของ ทอท. ในทุกๆ นาที AOT จึงให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และกำลังมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์
ปัญหาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสนามบินคือ “การใช้พลังงาน” เพราะสนามบินต้องใช้ไฟฟ้าเยอะมากในการทำความเย็น ทำความร้อน และระบบต่าง ๆ AOT ได้คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสนามบืน พบว่าส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงาน AOT จึงมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และในอนาคตอาจจะต้องมีการซื้อ คาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยส่วนที่ลดไม่ได้
แนวคิดในการพัฒนาสนามบินให้ทันสมัย และยั่งยืน ไม่ใช่แค่สถานที่ขึ้นลงเครื่องบินอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ รอบข้างมากขึ้น เช่น การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ การซื้อตั๋วที่สะดวกขึ้น และที่สำคัญคือ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยดังนั้น การออกแบบสนามบินในอนาคตจึงไม่ใช่แค่สร้างอาคารให้สวยงามอีกต่อไป แต่ต้องคิดถึงระบบทั้งหมด เช่น ระบบการเช็กอินอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารแต่ละกลุ่มให้มากที่สุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจจะเห็นสนามบินเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น เคาน์เตอร์เช็กอินมีน้อยลง การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ลดลง และมีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบเอกสารมากขึ้น

ในขณะที่ทุกคนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ AOT เองก็มีมาตรการหลายอย่าง เช่น การสร้างเขื่อนดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ตอนนี้กำลังพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้รู้ว่าจะมีน้ำท่วมเมื่อไหร่เพื่อเตรียมรับมือ
ส่วนเรื่องของ Zero Waste หรือการลดขยะให้เป็นศูนย์ สนามบินมีการใช้หลอดไฟจำนวนมาก และมีร้านอาหารต่างๆ ที่ผลิตขยะเป็นจำนวนมาก ทาง AOT อยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดปัญหาขยะ และมีการจัดการขยะออย่างถูกวิธี
ล่าสุด AOT ยังได้เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองแห่งที่ 1 (Midfield Satellite 1 – SAT-1) และรันเวย์ที่สามของสนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) โดยอาคาร SAT-1 สร้างขึ้นตามมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ อาคาร SAT-1 ยังติดตั้งระบบขนส่งอัตโนมัติ (Automated People Mover – APM) เพื่อเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารหลักได้อย่างสะดวกสบาย
การพัฒนาอาคาร SAT-1 ยังช่วยยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ อาคาร SAT-1 ได้รับรางวัล Prix Versailles Award ประจำปี 2567 ในหมวดสถาปัตยกรรมสำหรับการออกแบบภายนอกอาคารที่โดดเด่น ซึ่งได้รับการรับรองโดยองค์การยูเนสโก ส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสนามบินที่มีสถาปัตยกรรมงดงามที่สุดในโลก
ส่วนรันเวย์ที่สามของสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสนามบิน โดยสามารถรองรับเที่ยวบินได้สูงสุดถึง 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง การขยายขีดความสามารถดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความแออัดของการจราจรทางอากาศ และปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่สายการบินทั้งหมดที่ดำเนินงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ การดำเนินงานครั้งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน