REITs กับการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:8 Minute, 12 Second

การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลงทุนที่รับผิดชอบ เป็นเป้าหมายหลักที่องค์การสหประชาชาติและทั่วโลกให้ความสำคัญ และกำหนดให้เป็นนโยบายเชิงวิสัยทัศน์หลักของแต่ละประเทศ

ฝ่ายนโยบายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้นำเสนอบทความ เกี่ยวกับ ภาคธุรกิจซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการซึ่งรวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่มุ่งเน้นกำไรเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถนำพาให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ในระยะยาว

หากแต่จำเป็นต้องสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืนด้วยการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้ลงทุนที่ไม่เพียงแต่พุ่งความสนใจไปที่สินทรัพย์ประเภท ESG เท่านั้น ยังใช้ปัจจัยด้านความยั่งยืนมาจัดอันดับภาคธุรกิจเพื่อเลือกลงทุนอีกด้วย

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โครงสร้างประชากร สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ และการเปลี่ยนถ่ายของยุคสมัยที่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งปรับตัวภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย การประเมินผลการดำเนินงาน และการจัดการผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการรายงานและเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในด้าน ESG เพื่อสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า กิจการได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ความโปร่งใส ศักยภาพในการแข่งขัน และการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวร่วมด้วย

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกถูกกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ทั้งในรูปแบบของภาคบังคับ (mandatory disclosure) อย่างเช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย หรือรูปแบบการปฏิบัติตามหรืออธิบาย เช่น สหรัฐอเมริกา (comply or explain) และไทย (apply or explain) ในปี 2565 ก.ล.ต. ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยและรายงานข้อมูลด้าน ESG ตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีหรือแบบ 56-1 One Report พร้อมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับบริษัทจดทะเบียนด้วย

ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักที่แสดงถึงความสำคัญของ ESG เกิดจากความต้องการลงทุนของผู้ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท ESG เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยพบข้อมูลว่า เม็ดเงินลงทุนใน sustainable fund จากทั่วโลก ได้เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 เป็น 8.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2565 และข้อมูลจาก United Nations Principles for Responsible Investment (UNPRI) ได้ระบุว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 มีผู้ลงทุนและผู้ให้บริการการลงทุนทั่วโลก รวมจำนวน 4,902 ราย ร่วมลงนามสนับสนุนการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (Responsible Investment) ภายใต้ United Nations Principles for Responsible Investment (UNPRI) โดยมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแลรวมสูงถึง 121.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (4,245 ล้านล้านบาท)

สำหรับภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีนและญี่ปุ่น) มีอัตราผู้ร่วมลงนามเพิ่มขึ้นถึง 54% ในปี 2565 สำหรับประเทศไทยมีการออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) เพื่อบริหารจัดการลงทุนอย่างรับผิดชอบตามแนวทางสากลเช่นกัน โดยมีผู้ลงทุนสถาบันในไทยลงนามเข้าร่วมแล้วกว่า 78 แห่ง นอกจากนี้ ฐานผู้ลงทุนที่ร่วมลงนามยังมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของมูลนิธิ กองทุนบำเหน็จบำนาญเอกชน และบริษัทประกัน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ของ REITs จึงทำให้ภาคธุรกิจซึ่งรวมถึง REITs ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูล ESG กันมากขึ้น

หากกล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูล ESG ของ REITs ในต่างประเทศจะพบว่า REITs ได้ดำเนินนโยบายและเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนครอบคลุมทุกด้านใน ESG เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนแล้ว โดย REIT Industry ESG Report 2022 ของ Nareit รายงานว่า มากกว่า 82% ของ REITs ในสหรัฐอเมริกาได้มีการผนวกความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ในการวางกลยุทธ์และแผนการเงิน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการให้รายละเอียดและความถี่ในการเปิดเผยข้อมูล หรือแม้แต่การให้บุคคลภายนอก (third parties) มายืนยันความถูกต้องของข้อมูล ESG ที่ใช้ในการเปิดเผย โดยตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของ REITs และหัวข้อที่ผู้ลงทุนต้องการให้ REITs เปิดเผย มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ความหลากหลาย เท่าเทียม และการมีส่วนร่วม 2) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3) ความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังที่แสดงตามแผนภาพ

แผนภาพที่ 1 ผลสำรวจหัวข้อ ESG ที่ผู้ลงทุนใน REITs ให้ความสนใจ

แผนภาพที่ 2 ตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูลสำหรับ REITs ในต่างประเทศ

สำหรับการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Reports) ในแถบภูมิภาคเอเชียเอง ก็เริ่มมีแนวทางให้ REITs ต้องเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในสากล เช่น ประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ และมาเลเซีย ทั้งนี้ เนื้อหาการเปิดเผยข้อมูล ESG ของ REITs ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับของบริษัทจดทะเบียน

นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) จากภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่สูงและมีความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจเป็นจำนวนมาก ทำให้ REITs ซึ่งลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเรื่อง GHG หรือการใช้พลังงานทดแทนและประหยัดพลังงาน ประกอบกับกระแสของการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป้าหมายการลด GHG จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

จากการสำรวจในปี 2564 พบว่า 59% ของ REITs ในสหรัฐอเมริกามีการตั้งเป้าหมายการลด GHG ร่วมด้วย อีกทั้ง REITs ยังให้ความสำคัญในเรื่อง Green building หรือ อาคารสีเขียว เช่น การรับรองสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านมาตรฐาน Leadership in Energy & Environmental Design (LEED) หรือลงทุนในอาคารที่ได้การรับรองด้านสีเขียวเพิ่มมากขึ้น โดยในไทยมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมาตรฐาน LEED จำนวนมากกว่า 200 โครงการ และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนโครงการที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานในระยะยาวและสร้างโอกาสในการเพิ่มผลกำไรของโครงการ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ อีกด้วย

นอกจากการเปิดเผยข้อมูล ESG แล้ว REITs และกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังเข้ารับการประเมินตามมาตรฐาน ESG ต่าง ๆ ด้วย เช่น Global Real Estate Sustainability Benchmark (GRESB) ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดทำมาตรฐานและให้บริการประเมินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดย GRESB เน้นการประเมินใน 4 หัวข้อหลัก คือ

การใช้น้ำ การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอาคารสีเขียว รวมถึงข้อมูลด้านสังคม และธรรมาภิบาลอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย (diversity) ความเท่าเทียม (equity) และการมีส่วนร่วม (inclusion) เช่น นโยบายการกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ และการประเมินความเสี่ยงในการกำกับดูแลกิจการ เป็นต้น ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลที่ดีควรมีการสะท้อนให้เห็นถึงนโยบาย เป้าหมายและตัวชี้วัด และรายงานความคืบหน้าร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินนี้มาใช้เพื่อประกอบการจัดลำดับและตัดสินใจการลงทุนได้

ทั้งนี้ ในปี 2565 มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เข้ารับการประเมินแล้วกว่า 1,800 แห่งทั่วโลก และในไทยมีอย่างน้อย 4 บริษัทที่ได้รับมาตรฐาน GRESB นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในไทยที่เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูล จัดทำการประเมิน และเปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับ ESG อีกด้วย เช่น สถาบันไทยพัฒน์ ที่จัดทำการประเมินและคัดเลือกหลักทรัพย์ที่โดดเด่นในด้าน ESG 100 อันดับแรกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และยังได้เริ่มดำเนินการคัดเลือก REITs กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยเกณฑ์ ESG แล้วตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

จากบทวิจัยของ Harvard Business School ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างบริษัทในสหรัฐอเมริกา 180 ราย ได้พบความเชื่อมโยงระหว่างการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนกับการเติบโตของราคาหลักทรัพย์และผลประกอบการทางบัญชีในระยะยาว โดยบริษัทที่มีนโยบายและการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เข้มข้น พบว่ามีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Assets) และอัตราส่วนผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) ดีกว่าบริษัทที่ไม่มีนโยบายและการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน หรือมีแต่ยังน้อย ทำให้เห็นได้ว่า

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนนั้น นอกจากจะเป็นการสื่อสารนโยบายและการดำเนินงานธุรกิจเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ยังเอื้ออำนวยต่อการเติบโตในระยะยาว เพราะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนในการดำเนินงาน เพิ่มโอกาสการระดมทุน และยังทำให้ธุรกิจเป็นที่สนใจต่อผู้บริโภคและผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้อาจทำให้ REITs ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG พร้อมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ลงทุนเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของ REITs ไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการจัดทำ One Report ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมุ่งเน้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคำนึงถึงบริบทของ REITs เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริงและมีระยะเวลาการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้การลงทุนใน REITs มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

ช่อง 3 เปิดบูธโชว์คอนเทนต์ละครเด็ดครั้งแรก งาน FILMART 2023 ฮ่องกง

ช่อง 3 เปิดบูธครั้งแรก งาน FILMART 2023 ฮ่องกง นำเสนอคอนเทนต์ละครหลากแพลทฟอร์ม เจาะตลาดไทย – เทศ มั่นใจกระแสความนิยมเพิ่ม พร้อมขึ้นเวที ร่วมกับ CJ ENM เกาหลี และ ZEE Entertainment อินเดีย เสวนาหัวข้อ The Asian Wave in 2023 and Beyond