กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด่วน แพทย์เตือนปีนี้ส่อแววระบาดหนัก!

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:5 Minute, 54 Second

แพทย์เตือนไข้หวัดใหญ่ปีนี้ อาจรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปี ย้ำกลุ่มเสี่ยงควรเร่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชี้กลุ่มอายุ 0 – 19 ปี ตัวกลางสำคัญของการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว WHO ประกาศ ประเทศเขตอบอุ่นซีกโลกใต้รวมทั้งไทย เฝ้าระวังใกล้ชิด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นซีกโลกใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ให้เฝ้าระวังเพื่อติดตามและเตรียมรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) รวมถึงเพิ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจมีการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 ได้

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันของโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังจะกลับมาระบาดอีกครั้ง นับตั้งแต่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายการป้องกันโควิด-19 ที่ระบาดมา 2 ปีกว่าแล้ว และยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยเป็นบางส่วน รวมถึงมีการเปิดประเทศอย่างเสรี

ศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลีย (ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2565) มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สะสมถึง 147,155 ราย มีผู้ป่วยในที่รักษาในโรงพยาบาล 989 ราย และในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยถึงร้อยละ 6.1 หรือประมาณ 60 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ที่สำคัญมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ ถึง 54 ราย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากภายในประเทศเริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงได้รับรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศอีกด้วย ถึงแม้ว่าข้อมูลในประเทศไทยเริ่มทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่โรคไข้หวัดใหญ่จะกลับมาระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง

โรคไข้หวัดใหญ่ที่อาจจะกลับมาระบาดในปี 2565 หลังจากลดลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ มีการเว้นระยะห่าง และสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นกิจวัตร ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี แต่ในอีกนัยหนึ่งประชาชนก็ขาดโอกาสในการรับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งหลังจากที่มีการประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันต่างๆ ยกเลิกการสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็จะทำให้ประชาชนมีโอกาสรับเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน และหลายประเทศอยู่ในช่วงฤดูฝน มีอากาศชื้น ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายและมีอายุนานขึ้น การที่ร่างกายห่างหายจากภูมิคุ้มกันเป็นเวลานานนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โรคทวีความรุนแรงและกว้างขวางมากกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

2 ปัจจัยเสี่ยงหลัก การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ คือ

  1. การเปิดเรียนเต็มรูปแบบ ตัวแปรสำคัญก็คือ ‘เด็กเล็ก’ อายุ 0-4 ปี และ ‘เด็กวัยเรียน’ อายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ ‘เด็กโต’ อายุ 10-19 ปี ซึ่งถือเป็นตัวกลางที่จะนำพาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่มาสู่สมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ยิ่งหากมีผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็จะยิ่งได้รับความเสี่ยงสูงต่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้นไปด้วย จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์โดย The Lancet (ตีพิมพ์ 25 มีนาคม 2565) พบว่าผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้นถึง 2 – 4 เท่า เมื่อเทียบกับเป็นโรคโควิด-19 เพียงโรคเดียว ในขณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต สูงถึง 2 เท่า นอกจากนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศอื่นๆ ยังพบว่า 7 ใน 10 คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม การอักเสบของสมอง ความล้มเหลวของอวัยวะหลายส่วน และภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตอีกด้วย
  2. การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สิ่งที่กังวลคือนักท่องเที่ยวในหลายประเทศจะมีแนวทางปฎิบัติในการป้องกันโควิด-19 แตกต่างจากคนไทย เช่น ไม่นิยมสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือไม่มีการเว้นระยะห่าง อีกทั้งหากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นโซนที่กำลังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวรายอื่นๆ รวมถึงคนไทยที่เกี่ยวข้องได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ และอาจเกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยเป็นวงกว้างมากขึ้น ถือเป็นวงจรของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ต่อไปในอีกหลายประเทศในอนาคตอันใกล้

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าวย้ำเตือนกับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในช่วงวัย 0-19 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มนำพาโรคกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเดียวกับโควิด-19 รวมถึงประชาชนทั่วไป ไม่ควรเพิกเฉยต่อการป้องกันไข้หวัดใหญ่และควรป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจาก ‘การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่คุ้มค่าที่สุดในการช่วยปกป้องตนเองและบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวให้รอดพ้นจากความรุนแรงของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ โดย Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมผลการศึกษาจากหลายแห่ง ซึ่งมีผลการศึกษาปี 2018 แสดงให้เห็นถึงผู้ใหญ่ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีโอกาสรับการรักษาใน ICU น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ถึง 59% ขณะที่ผลการศึกษาปี 2021 พบว่า ผู้ใหญ่ที่รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง 31% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ปัจจุบัน สถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย มีบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลปี 2565 หรือเรียกว่า ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีกโลกใต้ 2022’ ทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ (ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย) และชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งจะครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กว้างกว่าชนิด 3 สายพันธุ์ โดยประชาชนสามารถรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้ที่โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป โดยได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

อย. ยัน Banana Boat สำหรับเส้นผม-หนังศีรษะ ไม่ได้นำเข้าไทย

อย. ยืนยันผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเส้นผมและหนังศีรษะ Banana Boat Hair and Scalp Sunscreen Spray SPF 30 ที่พบการปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง ไม่มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

You May Like