เครือข่าย CECI สร้างคุณค่า “ขยะ” อุตสาหกรรมก่อสร้าง

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:5 Minute, 12 Second

21 พันธมิตร เครือข่าย CECI ร่วมสร้างคุณค่าให้ “ขยะ” อุตสาหกรรมก่อสร้าง ผลักดันสู่ Green & Clean Construction ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยี

“​นิธิ ภัทรโชค” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เล่าว่า ที่ผ่านมาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน Supply Chain ต่างคนต่างทำงานโดยที่ไม่ได้มีการคุยกัน ทำให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ และมีการใช้พลังงานจำนวนมากในการทำงาน การสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง จึงต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีเศษวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุด รวมไปถึงการใช้สินค้าให้ประหยัดและคุ้มค่า ตลอดจนการนำของเสียมาเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบ หรือหมุนเวียนใช้พลังงาน ถือเป็นแนวทางที่ช่วยลดต้นทุนและประหยัดทรัพยากรได้ไม่ต่ำกว่า 20% ส่งผลดีต่อทั้งภาพรวมของธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy in Construction Industry- CECI กำลังพยายามเผยแพร่แนวคิดและผลักดันให้กลุ่มนี้ ขยายวงกว้างขึ้นในระดับประเทศ มุ่งสู่การดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Construction) ทั้งที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน เพราะคนเดียวก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เช่น เอสซีจีในฐานะผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างสามารถช่วยเจ้าของโครงการได้ตั้งแต่การออกแบบเพื่อผลิตวัสดุที่เหมาะสมกับการก่อสร้าง ตลอดจนนำวัสดุเหลือใช้กลับมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้พลังงานให้น้อยสุด และยังหาเพื่อนธุรกิจใน Supply Chain มาร่วมกันคิดหาวิธีการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

ด้านประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ให้มุมมองการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับการออกแบบสถาปัตยกรรมว่า เดิมสถาปนิกคำนึงถึงความสวยงามและประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก โดยที่ไม่มีการคิดและวางแผนร่วมกับผู้ผลิตวัสดุและผู้ก่อสร้าง การออกแบบที่ไม่ได้คิดจนจบกระบวนการ ทำให้สูญเสียวัสดุ (Waste) ระหว่างการทำงานเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเราจึงต้องกลับมาคิดใหม่ นำหลัก Circular Economy มาใช้ เพื่อลดปัญหาในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเริ่มต้นจากการออกแบบ 

​“เราสร้างอาคารที่สวยงามเสร็จแล้ว แต่กลับมีขยะอีกกองหนึ่งตั้งอยู่ หากเราสามารถบริหารจัดการเศษวัสดุเหล่านี้ได้ งานก่อสร้างทั้งหมดก็จะสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบ สถาปนิกต้องเข้ามาพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตและผู้รับเหมา เพื่อนำแนวคิดทุกภาคส่วนมาออกแบบให้สอดคล้องกัน จึงจะช่วยลดเวลา เงิน และทรัพยากร แนวคิดนี้ช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรขาดแคลนได้  หากมีการขยายวงกว้างขึ้นโดยการสร้างพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจออกแบบและนอกกลุ่มธุรกิจ จะทำให้ CECI เป็นเครือข่ายที่แข็งแรง” 

ขณะที่ กิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานก่อสร้างอาคารสูง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มองสอดคล้องกันว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้วางแผนการพัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงกำหนดเกณฑ์การออกแบบให้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาพัฒนาโครงการ และมีมาตรฐานกลางในการก่อสร้างที่ช่วยลด Waste ในการก่อสร้าง รวมถึงใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน และสิ่งสำคัญคือการเผยแพร่โครงการต้นแบบ (Best Practice) ของผู้ประกอบการอสังหาฯ สู่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล สำหรับการพัฒนาให้เกิดระบบและโครงการอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

“Developer เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ใช้งานอาคารและที่อยู่อาศัย ถือเป็นผู้ใช้ทรัพยากร ผู้มีบทบาทในการรวบรวมความต้องการและกำหนดห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาทิ สถาปนิก ผู้รับเหมา ได้โดยตรง ซึ่งบริษัทฯ ได้นำหลัก Circular Economy มาใช้ในการดำเนินธุรกิจคู่ขนาดกับการทำงานของกลุ่ม CECI มาสักระยะแล้ว นอกจากจะทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนและใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าแล้ว การขับเคลื่อนแนวคิดนี้ยังช่วยปลูกฝังความคิดใหม่ ๆ ที่ทำให้เยาวชนและผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตด้วย” 

ด้าน เกชา ธีรโกเมน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด ในฐานะวิศกรออกแบบและที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างต่าง ๆ กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนบางกลุ่ม จึงต้องสื่อสาร ทำความเข้าใจ เพื่อสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้น การร่วมมือในกลุ่ม CECI ถือเป็นการเริ่มต้นการสร้างการยอมรับ ขยายเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม และองค์ความรู้ในวงการก่อสร้าง  

​“คำถามว่าทำไมต้องทำ เป็นคำถามที่ตอบยากเสมอมา เพราะหลายคนรู้สึกว่าทำไมเราต้องเป็นคนแรกที่ต้องทำ แม้เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และพลัง ทำคนเดียวจึงไม่รอด แต่การที่มีกลุ่มและเครือข่ายที่ล้วนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำให้เราได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นพลังช่วยกันขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจและการยอมรับ ต่อไปหากมีนวัตกรรมหรือการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ก็จะทำให้เจ้าของโครงการหรือผู้พัฒนาโครงการกล้าที่จะลงมือทำ” 

การระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง สถาปนิกและที่ปรึกษาโครงการ เสนอให้มีการออกแบบวัสดุก่อสร้างให้ทนทาน โดยใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า มีการสร้างต้นแบบ (Prototype) การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง ตลอดจนรณรงค์ใช้สินค้าในประเทศเพื่อลดการใช้พลังงานในการขนส่งและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจในประเทศ ด้านบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เห็นว่า ควรกำหนดมาตรฐานการออกแบบ บริหารจัดการ และการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเกณฑ์ รวมทั้งแบ่งปันและใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้การก่อสร้างเกิดของเหลือน้อยที่สุด และกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง เห็นว่า การนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ในการก่อสร้าง จะช่วยลดวัสดุเหลือใช้ อีกทั้งควรใช้วัสดุให้สอดคล้องกับของที่มีในตลาด ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เสนอว่า ต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาสินค้าที่สามารถนำวัตถุดิบหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ สำหรับกลุ่มผู้บริหารจัดการของเสีย เห็นว่าการสร้างฐานข้อมูล Big Data และนำ IoT มาเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการของเสีย จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งวงการอย่างแท้จริง

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

ลอรีอัล เปิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางค์ยั่งยืน

ครั้งแรกของโลกกับบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมจากความร่วมมือระหว่าง ลอรีอัล แลนซาเทค และ โททาล