ราชกรุ๊ป ยึดแนวทาง ESG ดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ประกาศเพิ่มศักยภาพการบริหารสินทรัพย์พลังงาน ให้มีมูลค่าทางเสรษฐกิจสูงสุด ทั้งจากการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิม การลงทุนเพิ่มเติม และการขยายไปสู่ธุรกิจพลังงานใหม่ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตพลังงานสีเขียวเป็น 30% ปัดฝุ่นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR
นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้พร้อมรองรับความท้าทาย และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต จึงมุ่งเป้าที่การปรับพอร์ตสินทรัพย์ ด้วยการจัดกลุ่มสินทรัพย์และกำหนดกลยุทธ์การบริหารสินทรัพย์แต่ละกลุ่มให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ครอบคลุมตั้งแต่การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ในการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) เพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หนึ่งในกลยุทธที่สำคัญ คือการบริหารสินทรัพย์ด้านพลังงานของบริษัทฯ ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด ทั้งจากการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิม การลงทุนเพิ่มเติม และการขยายไปสู่ธุรกิจพลังงานใหม่ โดยสามารถตีความได้เป็น 4 ประเด็นหลัก :

- การใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมเพื่อเสถียรภาพระบบไฟฟ้า
โครงการ Synchronous Condenser ที่โรงไฟฟ้าทาวน์สวิลล์ในออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างของการนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยปรับบทบาทโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางไปแล้วให้กลายเป็นระบบสนับสนุนเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าในรัฐควีนส์แลนด์
- การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เดิม
มีการพิจารณานำโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางและที่ดินที่มีอยู่ มาสร้างโครงการใหม่หรือธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท แทนที่จะปล่อยให้เป็นสินทรัพย์รกร้าง
- การลงทุนเพื่อขยายมูลค่าทางธุรกิจ
การเข้าซื้อหุ้นจากพันธมิตรเดิมในโครงการที่ยังมีศักยภาพทางธุรกิจ สะท้อนถึงกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก เพื่อเพิ่มการควบคุมและบริหารโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การพัฒนาและลงทุนในพลังงานใหม่
มีการมุ่งเน้นการปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสอดรับกับทิศทางธุรกิจ รวมถึงการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือพลังงานใหม่เพื่อรองรับอนาคต

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH วางงบลงทุนปี 2568 ไว้ที่ 15,000 ล้านบาท โดยเน้นการลงทุนในพลังงานสะอาด ทั้งโครงการใหม่และการควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ภายในปี 2573 และ 40% ภายในปี 2578
RATCH มีแผนพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำในเวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์ และโครงการพลังงานลมในออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังศึกษาโอกาสในการพัฒนาโรงไฟฟ้าไฮโดรเจนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (SMR) และในเดือนกรกฎาคม 2568 นี้ได้กำหนดงาน Nuclear Energy and SMR Forum เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานที่มีศักยภาพที่สามารถตอบสนองภาคอุตสาหกรรม และประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก

ส่วนของสินทรัพย์เดิม RATCH ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์เดิม เช่น การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ และการนำโครงสร้างพื้นฐานเดิมมาใช้กับพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ในออสเตรเลีย และมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์เดิม และยังเป็นการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
ปัจจุบัน RATCH รับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,815 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งสิ้น 7,843 เมกะวัตต์ (72.5% ) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน รวม 2,972 เมกะวัตต์ ( 27.5%)