“คอเกร็ง” อันตราย! แพทย์เตือนเสี่ยงเป็น “โรคกระดูกคอเสื่อม”

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:4 Minute, 1 Second

ปวดคอไม่ใช่เรื่องเล่น! แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเตือน “คอเกร็ง” จุดเริ่มต้นของโรคกระดูกคอเสื่อม แนะสังเกตตัวเองก่อนสายเกินแก้

นพ.เมธี ภัคเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า “คอเกร็ง” เป็นอาการปวดคอชนิดรุนแรง เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและซอกคอหดเกร็ง เมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวคอเพียงเล็กน้อยก็จะมีอาการปวด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง และหากมีอาการปวดหัวไหล่ไปถึงแขน ลามลงไปถึงบริเวณปลายมือ อาจมีหินปูนเข้าไปเบียด หรือกดรากประสาทแขน ทำให้เกิดอาการปวดรวมทั้งอาจมีอาการชาร่วมด้วย

นพ.เมธี ภัคเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ

อาการคอเกร็ง สามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากพฤติกรรม และสำหรับผู้ที่เป็นมาตั้งแต่เกิดมีวิธีสังเกตคือ การหันหน้าหรือคอไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กล้ามเนื้อคอขึ้นเป็นลำ บางครั้งที่บริเวณกล้ามเนื้อเกร็งเป็นเวลานานๆ หรือเกร็งผิดรูปจะทำให้หน้าเบี้ยว โดยอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดบริเวณกล้ามเนื้อที่เกร็งนี้ออก โดยต้องตัดและยืดกล้ามเนื้อออกอาการผู้ป่วยถึงจะดีขึ้น และจะพอหันหน้าได้มากขึ้น อันนี้เป็นความผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากสมองหรือเป็นมาแต่กำเนิด

ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเกิดจากพฤติกรรม ยกตัวอย่าง โรคออฟฟิศซินโดรม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อรอบๆ คอ หากปวดกล้ามเนื้อธรรมดาจะหันหน้าไม่ได้สัก 2-3 วัน แต่เมื่อกล้ามเนื้อหายอักเสบก็จะกลับมาหันได้เหมือนเดิม แต่ในบางรายที่มีอาการปวดคอ หันหน้าไม่ได้มานานเป็นปี ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุหลักๆ จากหมอนรองกระดูกคอทรุด เพราะเมื่อหมอนรองกระดูกคอทรุดจะมีบางส่วนที่ไปหนีบเส้นประสาท ซึ่งการหันหน้าเป็นการกระตุ้นโดยตรงให้กระดูกคอยิ่งหนีบเส้นประสาทมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยหันหน้าจะทำให้ร่างกายต่อต้านและไม่อยากจะหัน จึงกลายเป็นคนที่หันหน้าได้ไม่สุด เมื่อเราแก้ไขหรือรักษาเพื่อเอารอยกดทับตรงบริเวณนั้นออก ผู้ป่วยก็จะหันหน้าได้ดีขึ้น นอกจากนั้นอีก 1 สาเหตุเกิดจากกระดูกข้อนั้นเสื่อมมากจนมาเชื่อมติดกัน หรือมีการเปลี่ยนหมอนรองคอ (ในกลุ่มที่รักษาโดยการผ่าแบบเปิด แล้วใช้เหล็กดามแบบเก่า) จะทำให้กระดูกมาเชื่อมติดกันประมาณ 2-3 ข้อขึ้นไป ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหันหน้าได้สุด และถ้าเกิดจากการผ่าตัดแบบเดิมส่วนใหญ่จะไม่สามารถแก้ไขได้

นพ.เมธี ยังเผยอีกว่า ผู้ป่วยบางรายยังสับสนว่าอาการคอเกร็งเกิดจากการนอนตกหมอน ในเรื่องนี้ นพ. เมธี อธิบายว่า ผู้ที่รู้สึกว่าตื่นขึ้นมาแล้วเมื่อยคอตลอดเวลา ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีลักษณะของรอยโรคที่บริเวณหมอนรองกระดูกคอเสื่อมหรือมีการกดทับของเส้นประสาท เพราะโดยปกติผู้ป่วยที่มีอาการในลักษณะของการนอนตกหมอนแล้วปวดคอทุกวันแทบจะเป็นไปไม่ได้ และหากอาการดังกล่าวนี้แสดงทุกวัน อาจจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติบริเวณคอแล้ว และให้สังเกตุว่าเมื่อเราตื่นขึ้นมามีอาการปวดคอติดต่อกันเป็นเดือนหรือไม่ และควรรีบต้องหาสาเหตุแล้ว

ในส่วนของอาการคอเกร็งนั้น ผู้ป่วยต้องสำรวจตัวเองว่าปวดในระดับไหน เช่นระดับที่เราทนได้โดยไม่ต้องทานยา ไม่ต้องกายภาพ พวกนี้ไม่ต้องรักษาก็ได้ แต่ถ้าปวดในระดับที่ต้องทานยาและกายภาพตลอด ก็ควรต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือหากมีอาการอ่อนแรง เช่น กำมือลำบาก กำมือแล้วไม่แน่นเหมือนเดิม จับของแล้วหล่น หรือรู้สึกว่าแขนทั้ง 2 ข้างมีขนาดไม่เท่ากัน เนื่องจากกล้ามเนื้อข้างที่อ่อนแรงฝ่อ วิธีสังเกตคือ ดูแขนของตัวเองว่า กล้ามเนื้อลีบ หรือเหลวลงหรือไม่ ในขณะที่อาการหลักๆ ของคอเกร็งนั้น นพ.เมธียังเผยว่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอ ปวดคอลงสะบัก แล้วร้าวมาที่บริเวณกราม หรือร้าวลงแขน นั่นคืออาการที่เด่นชัดของการกดทับของเส้นประสาทร่วมด้วย

ขณะที่ระยะเวลาในการสังเกตอาการด้วยตัวเองนั้น คือ 1 เดือน ถ้าปวดมาเกิน 1 เดือนก็ควรได้รับการรักษาเพราะไม่สามารถหายเองได้ ส่วนใหญ่คนที่มีอาการปวดเกิน 1 เดือน แสดงว่าร่างกายได้ผ่านการฟื้นฟูตัวเองไปแล้ว เพราะถ้าหากมีอาการอ่อนแรงแล้วปล่อยทิ้งไว้ จนเกิดการทับเส้นประสาทนานเกิน 6 เดือน การฟื้นตัวของเส้นประสาทอาจะไม่สามารถแก้ไขได้

สำหรับการวินิจฉัยนั้น นพ.เมธี เผยว่า ผู้ป่วยมากกว่า 90% ที่เป็นๆ หายๆ โดยมีการกดทับเส้นประสาทที่บริเวณคอ จะให้ผู้ป่วย X-ray ร่วมกับการทำ MRI เพื่อทำให้เห็นรอยกดทับที่ชัดเจน ซึ่งรอยกดทับนี้จะสอดคล้องกับอาการปวดของผู้ป่วย แล้วเราก็เข้าไปแก้ตรงจุดที่เป็นปัญหานั้น อาการของผู้ป่วยก็จะหาย

“คอเกร็ง” เป็นอาการป่วยเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้ามากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ นอนแล้วปวดตลอด ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ต้องรีบรักษาโดยเร่งด่วน เพราะจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

ซีอีโอใหม่ KCG ทรานส์ฟอร์มองค์กรยั่งยืน สร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซีอีโอ ป้ายแดง KCG “ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล” ประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าปี 67 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% สร้างการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ ปั้นธุรกิจอาหารสไตล์ตะวันตก เนยและชีส รับโลกใหม่

You May Like