AIS ดึง Blockchain เสริมศักยภาพจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:6 Minute, 57 Second

AIS ปักหมุดจุดจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ รายแรกของ SEA ดึง Blockchain ช่วยเสริมศักยภาพ จับมือองค์การก๊าซเรือนกระจกฯ พร้อม 6 องค์กร Green Partnership แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co พร้อมใช้ศักยภาพพัฒนาประเทศเพื่อขับเคลื่อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม ตอกย้ำความมุ่งมั่นซึ่งคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม โดย AIS เล็งเห็นขีดความสามารถของ Blockchain ในการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนา Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ภายใต้ภารกิจ “คนไทยไร้ E-Waste”

นำศักยภาพโครงข่ายอัจฉริยะ กับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มา Redesign Ecosystem หรือพัฒนากระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ผู้ทิ้งจนถึงโรงงานรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น ผ่านกระบวนการ Track and Trace โดยสามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนแนวทางการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการรีไซเคิล E-Waste อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล พร้อมนำร่อง 6 องค์กร Green Partnership เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน

Blockนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AISchain

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วน สิ่งที่ตามมาคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัลก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้นเราจึงทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงโทษภัยของขยะ E-Waste ในขณะเดียวกันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดเก็บและทำลาย E-Waste อย่างถูกวิธี ทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ตั้งจุดรับทิ้งและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น เราจึงขยายผลไปอีกขั้นด้วยการ Redesign Ecosystem เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถลงมือบริหารจัดการ E-Waste ในองค์กรเองได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายพนักงานและลูกค้าของแต่ละองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะ E-Waste กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ โดยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งมีการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อให้เห็นผลอย่างชัดเจน

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Scores ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการลงมือทำในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถแชร์ในโซเชียลและแสดงตัวตนในโลก Metaverse ได้ โดย AIS ยังมีแผนพัฒนาให้ Carbon Scores ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย

ในขณะที่ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายเพิ่มเติมว่า ในฐานะองค์กรหลักที่มีภารกิจในการสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มุ่งสู่ Net Zero GHG Emission และเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านก๊าซเรือนกระจก การทำงานร่วมกับ AIS ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเชื่อมต่อระบบการทำงานและพฤติกรรมของทุกคนให้เห็นถึงปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ มีความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูล กิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับแพลตฟอร์ม ที่องค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับพันธมิตรเครือข่าย Green Partnership ทั้ง 6 องค์กรที่จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสผ่าน Blockchain ประกอบไปด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ที่จะเข้ามาเริ่มใช้แพลตฟอร์ม E-Waste+ เพื่อส่งต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคมในวงกว้างต่อไป

นายประดิษฐ มหาศักดิ์ศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจเกิดใหม่ บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือจากพนักงานในองค์กรเพื่อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการได้ทำงานร่วมกับเอไอเอสที่เป็นพาร์ทเนอร์กันมานาน และมีเป้าหมายตรงกันในการลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้มีความมั่นใจในกระบวนการจัดการ E-Waste อีกทั้งสามารถตรวจสอบสถานะของกระบวนการนำส่งได้ในแต่ละขั้นตอน ไม่เพียงความร่วมมือในครั้งนี้เท่านั้น แต่เด็นโซ่เชื่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกับเอไอเอส ในการปรับใช้ E-Waste ที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ทางป๋วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับเอไอเอสในการร่วมมือแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งมองถึงสิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ต้องสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ให้กับคนส่วนใหญ่ โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม E-Waste+ ถือเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้อีกด้วย โดยหลังจากนี้ มธ. และเอไอเอส ยังได้จับมือร่วมกับเพื่อพัฒนานาโปรเจ็คต่อไปในการนำขยะมาสร้างมูลค่าเพื่อสร้างความยั่งยืน

นายเอกพันธ์ สิทธิไตรวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจและบริหารกลาง บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ทางบริษัทให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการสร้างความรู้ให้พนักงานเข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างไร และขยายผลจากการสร้างการตระหนักรู้ภายในองค์กรสู่สังคม พร้อมร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อจัดการการทิ้ง E-Waste อย่างถูกวิธี โดยได้ร่วมกับ AIS มาเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นการร่วมมือที่ดีอย่างมาก สำหรับช่องทางใหม่การทำแพลตฟอร์ม E-Waste+ มีความน่าสนใจอย่างยิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน

นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มยุทธศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารออมสินได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเพื่อต้องการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลือกใช้พลังงานทดแทน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงมองเห็นความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างเอไอเอส ในการกำจัด E-Waste ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน นำร่องที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีพนักงานจำนวน 5,000 กว่าคน พร้อมผลักดันไปสู่สาขาต่างๆ โดยมีสาขาทั่วประเทศกว่าพันแห่ง และมีผู้ใช้บริการจำนวนมากถึง 23 ล้านราย เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเชิญชวนให้ลูกค้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการสร้างมลพิษ สร้างโลกให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

สำหรับ ดร. รนน โชติพงศ์ ผู้ร่วมบริหารฝ่ายบริหารอาคารและงานกลาง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักดีว่าการจัดการ E-Waste เป็นเรื่องที่ยาก แต่เป็นโอกาสที่ดีที่ได้พบพาร์ทเนอร์อย่างเอไอเอส ที่มีศักยภาพโดยมีกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส โดยการได้ร่วมเป็น 1 ในสมาชิกนำร่องของโปรเจ็กนี้ ทำให้คาดว่าในอนาคตคงมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเพื่อร่วมจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

AIS ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อเป็นแกนกลางด้านองค์ความรู้และจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2019 เพื่อขับเคลื่อนสังคมและยกระดับเพิ่มขึ้นอีกขั้นด้วยการใช้ความสามารถของดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการสร้างระบบการจัดการ E-Waste ใหม่ด้วย Blockchain ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสิ่งแวดล้อมและโลกนี้ให้ดีขึ้น

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

iStudio by copperwired เซ็นทรัล เอ็มบาสซี อัพเกรดสู่ Apple Premium Partner

คอปเปอร์ ไวร์ด หรือ CPW ตัวแทนจำหน่ายสินค้า Apple อย่างเป็นทางการ ปรับโฉมใหม่ iStudio by copperwired สาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี อัปเกรดเป็น Apple Premium Partner

You May Like